แนวทางการจัดการศึกษา
|
การจัดการศึกษาของโรงเรียนประภัสสรคุณธรรมมิได้เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่การแข่งอัดความรู้ให้ผู้เรียนเพียงอย่างเดียว และมิได้ถือว่าการอัดความรู้ให้ได้มากที่สุดถือว่าการศึกษานั้นๆประสบความสำเร็จ ซึ่งหากกล่าวถึงความรู้บนโลกใบนี้แล้ว โลกใบนี้มีความรู้อีกมากมายที่เราสามารถศึกษาได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด และความรู้ในหลายๆอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของกาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงของโลก อีกทั้งยังมีความรู้ใหม่ๆที่นับวันจะเพิ่มขึ้นมาตามกาลเวลาของโลกที่เปลี่ยนไปเช่นกัน หากการศึกษาเป็นไปเพียงเพื่อการแข่งอัดความรู้ แต่ขาดซึ่งการพัฒนาทักษะของมนุษย์และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แล้ว จะทำให้เด็กใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย ไร้ทิศทาง และมีแนวโน้มในการเข้าสู่กระแสวัตถุนิยมมากขึ้น นั่นเพราะขาดการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ “สู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” การศึกษาวอลดอร์ฟเป็นปรัชญาการศึกษา ที่เปรียบเหมือนเข็มทิศที่ใช้ในการเดินทางของชีวิตนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้การศึกษาวอลดอร์ฟ จึงแบ่งการพัฒนามนุษย์ ดังนี้ 0-7 พัฒนามิติทางกาย สัมพันธ์กับ การเลียนแบบ 7-14 พัฒนามิติทางจิตใจ สัมพันธ์กับ ความรู้สึก 14-21 พัฒนามิติทางจิตวิญญาณ สัมพันธ์กับ เชาว์ปัญญา ดังนั้น การจัดการศึกษาของโรงเรียนประภัสสรคุณธรรมได้อิงอาศัยปรัชญาการศึกษาแบบวอลดอร์ฟของรูดอล์ฟ สไตเนอร์มาปรับประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา เป็นการจัดการศึกษาที่มิได้เน้นการอัดความรู้ แต่เป็นการศึกษาที่ปลุกอัตตาหรือตัวตนภายในของมนุษย์ให้ตื่นจากการที่มุ่งตนเองเป็นใหญ่ไปสู่การรู้จักตัวตนอย่างแท้จริง ตระหนักรู้ถึงความดีงานสูงส่งอันเป็นนิรันดร์ในตนเอง มีความเป็นอิสระและความรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์ต่ออนาคตของตนเอง ของมนุษยชาติ และโลก เป็นการศึกษาเพื่อสังคมที่มองว่าการแข่งขันมิใช่ปัจจัยสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ ความร่วมมือต่างหากที่เป็นปัจจัยของความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ เป็นการศึกษาที่ต้องพัฒนามนุษย์ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ด้วยการเข้าถึงสัจจะความเป็นจริงอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ 0-7 ปี เรียนรู้ด้วยการกระทำ การสอนมุ่งให้เด็กเข้าถึงสัจจะความจริงในการกระทำความดี 7-14 ปี เรียนรู้จากความรู้สึก การสอนมุ่งให้เด็กรู้สึกถึงสัจจะความจริงในความงาม 14-21 ปี เรียนรู้จากการคิด การสอนมุ่งเน้นให้เด็กเข้าถึงสัจจะความเป็นจริงในความคิด |